สถาปัตยกรรมกับการดูแลวัตถุและสถานที่โบราณคดี
ประเทศจีนสร้างพื้นผิวปกคลุมถ้ำโบราณของมนุษย์ปักกิ่ง หนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของ Zhoukoudian Peking Man Site ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองปักกิ่ง เพื่อป้องกันถ้ำจากการถูกทำลายโดยน้ำฝนและแรงลม พร้อมกับรักษาระดับอุณหภูมิและความชื้นในถ้ำให้คงที่
โครงการนี้ได้รับการดูแลโดยสถาบันวิจัยและออกแบบสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยชิงหัว (Architectural Design and Research Institute of Tsinghua University - THAD http://www.arch.tsinghua.edu.cn ) เพื่อรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลายชิ้น ซึ่งรวมไปถึงโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ Homo erectus หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘มนุษย์ปักกิ่ง’ และมีอายุมากกว่า 750,000 ปี
พื้นผิวที่ถูกสร้างขึ้นนี้ไม่ได้ปกปิดถ้ำโดยสมบูรณ์ แต่เป็นโครงสร้างแบบกึ่งปกปิด (semi-closed structure) ที่มีหน้าที่ป้องกันน้ำฝน กระแสลม และน้ำท่วม เพื่อให้ถ้ำแห่งนี้ปลอดภัยจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ การออกแบบโครงสร้างถูกทำให้ประกอบและถอดออกได้อย่างง่าย เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ถ้ำในกรณีที่ต้องมีการซ่อมแซมหรือเคลื่อนย้าย
โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้าง 54 เมตร ยาว 77 เมตร รวม 3,700 ตารางเมตร โครงสร้างประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้นที่ซ้อนทับกันแบบเกล็ด 825 ชิ้น ภายนอกทำจากอลูมิเนียมและปลูกพืชเลื้อยเพื่อให้ต่อไปจะกลายเป็นผิวสีเขียวธรรมชาติที่ดูกลมกลืนกับป่าโดยรอบ ช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้น และทำให้น้ำฝนสามารถไหลออกได้ ในขณะที่ช่องว่างระหว่างแผ่นเกล็ดยังสามารถปล่อยให้อากาศถ่ายเท และรับเอาแสงสว่างบางส่วนเข้ามาในพื้นที่ได้
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments