ก้าวสู่ยุคถัดไปของอาหารแห่งโลกอนาคต เมื่อรูปแบบการผลิตอาหารอย่างที่เราคุ้นเคยนั้นกำลังจะหมดไป
นับเป็นความโชคดีหากแต่ละวันเราจะสามารถรับประทานอาหารจากผักที่ปลูกเองหลังบ้าน ได้กินไข่ไก่จากแม่ไก่ที่เราเลี้ยงเอง หรือเก็บเห็ดจากโรงเพาะขนาดเล็กประจำบ้าน แต่ด้วยการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ปริมาณการบริโภคอาหารทั่วโลกจะไต่ขึ้นไปเป็น 2 เท่าของที่เป็นอยู่ พื้นที่ใช้สอยในการผลิตอาหารอย่างที่มีอยู่ปัจจุบันจึงอาจไม่สามารถรองรับความต้องการนั้นได้อีก
ด้วยงานวิจัยจาก VTT Technical Research Centre of Finland และ Lappeenranta University of Technology ร่วมกับ Solar Foods [https://solarfoods.fi/] ทำให้ในวันนี้เรามีทางเลือกที่จะตอบโจทย์ความต้องการของโลกในอนาคตได้ ด้วยการผลิตอาหารโดยใช้กลไกที่ดึงเอาโมเลกุลที่มีอยู่ในอากาศมาใช้ประโยชน์
การออกแบบอาหารที่รสชาติดีและยั่งยืน
เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารที่จะรุนแรงขึ้นในโลกอนาคต ทั่วโลกต่างมุ่งความสนใจมาที่สารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายมากนั่นคือ 'โปรตีน' และเนื่องจากแหล่งโปรตีนหลักของโลกในปัจจุบันนั้นมาจากเนื้อสัตว์ซึ่งใช้กระบวนการผลิตที่สิ้นเปลือง ทั้งใช้น้ำและการดูแลเอาใจใส่ที่เข้มงวด ใช้แรงงานในการผลิตมาก ต้องการพื้นที่กว้างขวาง และใช้เวลานานนับเดือนหรือนับปีกว่าจะได้เนื้อออกมาในปริมาณเพียงน้อยนิด
แหล่งโปรตีนที่ถูกพัฒนาขึ้นล่าสุดนี้มีชื่อว่า 'Solein' ใช้สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรียในการขับเคลื่อนกระบวนการ โดยแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ใช้นี้สามารถจับเอาอะตอมของคาร์บอนจากก๊าซที่มีอยู่ในอากาศมาแปลงให้กลายเป็นโมเลกุลของกรดอะมิโนและโปรตีน ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าการผลิตโปรตีนด้วยวิธีนี้ใช้พื้นที่น้อยกว่าการเลี้ยงวัวถึง 86 เท่า และใช้ทรัพยากรน้ำในการผลิตน้อยที่สุดเพียง 4 ลิตรต่อโปรตีน 1 กิโลกรัม เทียบกับการเลี้ยงวัวซึ่งใช้น้ำมากถึง 86,996 ลิตรต่อโปรตีน 1 กิโลกรัม การผลิตด้วยแบคทีเรียนี้ยังทำให้ได้โปรตีนที่มีกลิ่นที่เบาบาง (กลิ่นคล้ายแป้งสาลี) และยังสามารถนำไปใช้กับเทคโนโลยีการพิมพ์อาหารแบบสามมิติซึ่งเป็นความหวังของการผลิตอาหารเพื่อป้อนการเจริญเติบโตของโลกในอนาคต
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments