เมื่ออำนาจในการครอบครองสมาร์ทโฟนถูกคุมโดยนายทุน คนตัวเล็กๆจึงหันมาพัฒนาเทคโนโลยีกันเอง
จากไอเดียเล็กๆ ในปี 2010 สู่การผลิตต้นแบบในปี 2014 และนำมาสู่การผลิตจริงในวันนี้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ 9 คน นำโดย Eric Pan รวมตัวคนที่สนใจด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ช่วยกันชำแหละอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงเพื่อศึกษาทีละชิ้น ออกแบบการผลิตด้วยตัวเอง และทำให้คนทั่วไปสามารถสร้างอุปกรณ์ของตนเองได้ในราคาถูก
เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นับวันจะดูมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทนายทุนใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟนก็พยายามออกแบบภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูมีความพิเศษ ในขณะเดียวกันก็เป็นการกีดกันผู้บริโภคให้ไม่สามารถทำความเข้าใจความรู้ที่อยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยี ยุคทองของ ‘การเล่นกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์’ อย่างในยุคที่ สตีฟ จอบส์ เคยลองผิดลองถูกกับการประกอบอุปกรณ์ด้วยตัวเองในโรงรถดูจะห่างไกลความจริงมากขึ้นทุกที
การออกแบบการเข้าถึงเทคโนโลยี
แนวคิดสำคัญของ Eric Pan กำเนิดเมื่อกลุ่มเพื่อนของเขาซึ่งปัจจุบันได้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Seeed (https://www.seeedstudio.com) ได้เริ่มต้นชำแหละอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ หรือในลักษณะที่เป็นโมดูล (module) ทำให้สามารถตัดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป และเลือกนำชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกันได้มากหรือน้อยได้ตามความต้องการ
อุปกรณ์ในภาพโพสต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ทโฟนแบบ DIY (do-it-yourself) ที่ทีมงานเรียกว่า ‘RePhone’ (http://wiki.seeedstudio.com/RePhone/) ซึ่งสามารถเลือกคุณสมบัติของสมาร์ทโฟนที่ต้องการได้ตามองค์ประกอบที่ถูกนำมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และยังสามารถเลือกผิวหุ้มเป็นวัสดุที่หลากหลายได้ตามแต่เจ้าของจะปรารถนา โดยโมดูลที่เป็นแกนกลางของหน้าจอซึ่งบรรจุโปรแกรมประมวลผลเอาไว้มีราคาเริ่มต้นที่ 19 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 600 บาทเท่านั้น และยังสามารถอัพเกรดระบบของสมาร์ทโฟนที่ต้องการใช้และประกอบชิ้นส่วนเพิ่มเพื่อเสริมคุณสมบัติอื่นๆ นอกจากนี้ อุปกรณ์โมดูลเหล่านี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนหน้าตาและเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ ทำให้การประสานอุปกรณ์รอบตัวอื่นๆ ด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things หรือ IoT) กลายเป็นเรื่องง่ายดายมากขึ้น
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comentários