top of page

DESIGN for SOCIAL IMPACTS

อ อ ก แ บ บ เ พื่ อ ส ร้ า ง ส ร ร ค์ สั ง ค ม

การออกแบบ / ม็อบ / ประชาธิปไตย

การประท้วงและการก่อม็อบกำลังทำหน้าที่อะไรอยู่ภายใต้ประชาธิปไตย และไอเดียก่อม็อบแบบไหนถึงจะดี

.

แม้หลายคนอาจรู้สึกว่าการประท้วงหรือการก่อม็อบนั้นสร้างความปั่นป่วน วุ่นวาย หรืออาจถึงขั้นน่ารำคาญ แต่แท้จริงแล้วการประท้วงและการก่อม็อบนับเป็นสิ่งสำคัญภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แม้ว่าการประท้วงจะอยู่นอกเหนือระบบการเลือกตัวแทน (non-representative) และอยู่นอกเหนือกระบวนการทางการของประชาธิปไตย (extra-institutional) แต่จากงานวิจัยมหาวิทยาลัย Brigham Young University [1] ก็พบว่าผู้ที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับการประท้วงมักมีแนวคิดที่ไขว้เขวออกจากแนวทางประชาธิปไตยกันอยู่พอสมควร


จากการให้ข้อมูลของ Open Democracy [2] เราพบว่าการประท้วงถือเป็นการแสดงออกเพื่อทวงคืนสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน การประท้วงนับเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนส่วนหนึ่งที่ไม่พึงพอใจการกระทำของรัฐและปฏิเสธความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อสิทธิของพวกเขาอยู่ ไม่ว่าการประท้วงจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ภายใต้แนวคิดแบบประชาธิปไตย เหตุการณ์ประท้วงจึงควรได้รับการโอบอุ้มดูแลและรับฟัง และไม่ควรถูกทำลายด้วยการสลายการชุมนุมหรือปิดกั้นการชุมนุมโดยเด็ดขาด



อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐไม่ได้สนับสนุนแนวคิดแบบประชาธิปไตย การประท้วงและการก่อม็อบในบางครั้งก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะการประท้วงเป็นเหตุการณ์ที่มีความตึงเครียด (ใครจะอยากเครียดล่ะ ถูกไหม) และใช้เวลายาวนาน (จนอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อคนอื่น และแม้แต่ผู้เข้าร่วมประท้วงเองก็อาจจะเบื่อได้) การประท้วงและการก่อม็อบจึงอาจต้องอาศัยการออกแบบและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยเหมือนกัน


การออกแบบการทวงสิทธิ

Micah White [3] หนึ่งในแกนนำในเหตุการณ์ประท้วง Occupy Wall Street ได้ถอดบทเรียนบางส่วนไว้ให้เรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ


01 อย่าประท้วงแบบเดิมซ้ำๆ

หากวิธีการประท้วงแบบเดิมใช้ไม่ได้ผลก็อย่าฝึนทำแบบนั้นซ้ำสอง และแม้จะเคยใช้ได้ผลแล้วก็ยังควรเปลี่ยนวิธีการใหม่อยู่ดี เพราะหากใช้วิธีการซ้ำคนก็จะเบื่อหน่ายหรือท้อเพราะรู้สึกว่าเป็นการประท้วงที่ไม่จบสิ้น พยายามหาสีสันใหม่มาบรรจุไว้ในม็อบอยู่เสมอๆ เพราะคงไม่มีใครสนุกกับการอยู่เฉยๆ หรือทำสิ่งเดิมซ้ำนานๆ หลายชั่วโมง การประท้วงอาจใช้เวลาหลายวันหรืออาจนานเป็นเดือน ไอเดียใหม่ๆ จะช่วยให้มีการเคลื่อนไหวในม็อบอยู่เสมอ และยังช่วยเรียกสื่อให้เข้ามาทำข่าวและกระจายข้อมูลต่อไปได้เรื่อยๆ (สื่อเป็นสิ่งสำคัญมากในลำดับต่อๆ ไป)


02 เริ่มให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

อย่าใช้วิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไปนานจนเกินไป ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของผู้ก่อการประท้วงหลายครั้งมาในรูปแบบ ‘ladder of engagement’ หรือค่อยๆ ขยายการมีส่วนร่วมของคนให้มากขึ้นทีละนิด เช่น เริ่มจากการเข้าชื่อกันออนไลน์ก่อนแล้วค่อยๆ ขยับไปสู่การเคลื่อนไหวบนท้องถนน วิธีนี้ก็มักใช้ไม่ได้ผลในการเรียกคนที่อยู่นอกกลุ่มให้หันมาเข้าร่วม วิธีที่ดีกว่าคือการจุดความสงสัย สร้างการตื่นรู้ หรือกระทุ้งให้คนที่อยู่นอกกลุ่มได้ ‘ตาสว่าง’ จนหยุดไม่ได้ที่เขาจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยกัน


03 ทำด้วยความกล้าหาญ

เพนกวินทั้งฝูงจะไม่กระโดดลงน้ำหากไม่มีเพนกวินสักตัวหนึ่งกระโดดลงไปก่อน นั่นก็เพราะทุกคนยังคงไม่แน่ใจว่าความกล้าหาญของตนเองนั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ การประท้วงที่ได้ผลจึงต้องอาศัยการลงมือทำด้วยความกล้าหาญของคนส่วนหนึ่งก่อน เพื่อจุดประกายให้ทุกคนได้เห็นว่าความกล้าหาญนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ และทุกคนไม่ควรเก็บตัวเองไว้อยู่กับความขลาดกลัว ลองดูตัวอย่างการชุมนุมค้างคืนร่วมกันของนักศึกษาที่ Occupy Wall Street เหตุการณ์นี้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมแทบทุกระดับชั้นเกิดความรู้สึกร่วม และสุดท้ายก็ยกระดับการชุมนุมได้


04 ขยายประเด็นให้ครอบคลุมทุกคน

การจะสร้างความรู้สึกร่วมของคนหมู่มากได้ จำเป็นต้องอาศัยการกระทุ้งที่รุนแรงมากเพียงพอที่จะทำให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่รัฐทำนั้นกำลังจะส่งผลกระทบกับพวกเขาด้วย เพราะโดยธรรมชาติคนเราจำนวนหนึ่งจะไม่สนใจว่าใครจะเป็นอะไรยังไงจนกว่าภัยนั้นจะมาถึงตัวเอง แม้ในบางครั้งการประท้วงหรือม็อบจะถูกจุดขึ้นด้วยประเด็นสิทธิเฉพาะกลุ่ม แต่หากคิดจะให้การประท้วงนั้นสำเร็จก็จะต้องสื่อสารให้เห็นด้วยว่าเหตุการณ์ริดรอนสิทธิหรือเสรีภาพนั้นจะส่งผลอะไรต่อคนอื่นๆ ที่อยู่นอกกลุ่มได้บ้าง


05 รู้จักพื้นที่และจังหวะเวลา

การรบที่ดีต้องรู้จักภูมิประเทศและปฏิทินเวลาของทุกฝ่าย นายพลจะไม่ออกไปตั้งค่ายในที่ราบลุ่มแน่นอนหากรู้ว่ากำลังจะเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก การประท้วงและการก่อม็อบก็เช่นเดียวกัน การรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมและบุกในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเวลาที่ผู้คนจะเลิกงาน ช่วงวันที่คนจะมีเวลามารวมตัวกันได้นานๆ การเลือกสถานที่ที่คนสามารถเดินทางมาร่วมได้สะดวก มีบริบททางประวัติศาสตร์ หรือก่อให้เกิดความได้เปรียบในการขนส่งเสบียงและการดูแลสวัสดิการ รวมทั้งอาจเป็นพื้นที่ที่มีทางหนีทีไล่ที่หลากหลาย


ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นปัจจัยพื้นฐานของการประท้วงและการก่อม็อบให้ได้ผล ต่อไปนี้ลองดูตัวอย่างของไอเดียก่อม็อบที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว ..


จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน

การ #จับมือ เป็นการสร้างป้อมปราการแบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย แสดงออกให้เห็นว่าทุกคนมาด้วยหัวใจและมือเปล่าที่ปราศจากอาวุธ ขอแค่มีคนมาอยู่ด้วยกัน จับมือต่อกันไปเป็นทอดๆ ใครมาทีหลังก็จับมือต่อกันไปเรื่อยๆ นอกจากจะสร้างอิมแพคในภาพรวมที่กินพื้นที่กว้างได้มากแล้ว ก็ยังทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมได้รู้สึกอุ่นใจ และสามารถเข้ามาเสริมทัพได้ทันทีโดยไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย

วิธีนี้เคยถูกใช้ใน “Collective Hug” ใน IDAHOT อิตาลี เมื่อปี 2014



สะท้อนให้เห็น ว่าใครกันแน่ที่กระทำรุนแรง

เมื่อรัฐกำลังกระทำรุนแรงต่อผู้ชุมนุม การถือ #กระจก เพื่อสะท้อนเงาให้คนตรงหน้าในขณะที่กำลังประจันหน้ากันก็เป็นวิธีการเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารได้เห็นว่าพวกเขานั่นเองที่กำลังโจมตีประชาชนอยู่ และช่วยให้เจ้าหน้าที่ได้สำรวจตัวเองและตัดสินใจอีกครั้งว่าพวกเขากำลังรับใช้ประชาชนหรือรัฐที่กำลังบิดเบี้ยวนี้อยู่ วิธีการนี้ยังช่วยให้เห็นว่าประชาชนนั้นมาด้วยความสงบด้วย

วิธีนี้เคยถูกใช้ใน “Mirror Protest” ในยูเครน เมื่อปี 2013



โห่ร้องให้สุดเสียง

การชุมนุมประท้วงที่ยาวนานแบบนิ่งๆ บางทีก็ทำให้เบื่อและเสียกำลังใจ แทนที่จะอยู่กันเงียบๆ การ #โห่ ร้องออกมาเป็นช่วงๆ ก็ช่วยให้ได้ผ่อนคลายอารมณ์ออกมาได้ ช่วยคลายความตึงเครียด และยังสร้างแรงกระเพื่อมในการเป็นจุดสนใจได้ไม่ยากเย็น การโห่ร้องนี้อาจนัดแนะให้ทำพร้อมกันในช่วงเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้นก็นับว่าเพียงพอ

วิธีนี้เคยถูกใช้ใน “One Minute Noise” ใน IDAHOT ฮังการี เมื่อปี 2014



อีกครึ่งหน้าของฉัน คือคนที่ไม่ลืม

ลงทุนปริ้น #รูปใบหน้า คนสำคัญแค่แผ่นละ 0.5-1 บาท แล้วยังฉีกครึ่งเพื่อแบ่งกับเพื่อนข้างๆ ไว้ใช้ได้ด้วย การประท้วงด้วยวิธีนี้นอกจากจะราคาถูกแล้วยังช่วยส่งข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงให้แก่สื่อและคนอื่นๆ ได้ติดตามด้วยความสงสัย ว่าใบหน้าของคนที่ถูกเลือกนั้นคือใครและมีความสำคัญอย่างไร ใบหน้าที่ถูกเลือกจึงมักเป็นเหยื่อหรือผู้ที่ถูกทำร้ายในเหตุการณ์ประท้วงนั้น

วิธีนี้เคยถูกใช้ในการประท้วงต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ตุรกี เมื่อปี 2015



“ใช่” นี่แหละที่ต้องการ

การชูป้ายคำสำคัญที่ถูกเลือกฟอนต์ให้มีกิมมิคสักเล็กน้อย แค่นี้ก็กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่หากทุกคนมายืนชิดกันและช่วยกันชูขึ้นคนละใบ คำนี้อาจเป็นคำเรียบง่ายอย่างคำว่า #ใช่ (Si ในภาษาอิตาลี) เพื่อบอกว่าใช่แล้ว! นี่คือสิ่งที่เราต้องการ หรือ ไม่! นี่คือสิ่งที่พวกเราปฏิเสธ

วิธีนี้เคยถูกใช้ในการประท้วงของกลุ่ม LGBTQ ในอิตาลี เมื่อปี 2015



สร้างศิลปะจากกิจกรรมของผู้คน

ภาพดวงอาทิตย์ดวงใหญ่สีเหลืองนี้เกิดจากการขี่จักรยานและปล่อย #ผงสี ที่ล้างออกได้ลงบนพื้นถนน หลังจากนั้นเมื่อมีรถยนต์วิ่งผ่าน ผงสีก็จะติดล้อรถและช่วยกระจายให้รัศมีของดวงอาทิตย์นี้มีวงกว้างขึ้นโดยผู้ประท้วงไม่ต้องออกแรงเลย กิจกรรมตัวอย่างนี้เลือกใช้ดวงอาทิตย์เพราะเป็นการประท้วงเพื่อให้รัฐบาลหันมาการใส่ใจแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนมากขึ้น

วิธีนี้เคยถูกใช้โดย Greenpeace ที่ฝรั่งเศส เมื่อปี 2015



อักษรมนุษย์

ถ้าคำบนป้ายกระดาษมีอำนาจไม่พอ ก็ใช้มนุษย์เป็น #ตัวอักษร เสียเลย การสื่อสารด้วยตัวมนุษย์นอกจากจะทำให้มองเห็นได้ในระยะไกลแล้วยังทำให้เห็นพลังของคนจำนวนมากและการวางแผนที่ดี ในตัวอย่างนี้เป็นการห่มตัวเองด้วยผ้าสีส้มและนอนเรียงกันเพื่อเป็นประโยคว่า “คืนเงินเดือนของเรามา” ของกลุ่มพนักงานที่เรียกร้องให้มีการจ่ายเงินและจัดการกับปัญหาการเลิกจ้าง

วิธีนี้เคยถูกใช้ในไต้หวัน เมื่อปี 2015



ล้างชาติให้สะอาด

การ #ซักล้าง ทำความสะอาดเป็นวิธีการสื่อสารอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนอาจทำได้เลยที่บ้าน ในการประท้วงในภาพนี้เป็นการนำเอาธงชาติมาซักเพื่อหวังให้เกิดความขาวสะอาดในเชิงสัญลักษณ์

วิธีนี้เคยถูกใช้ในเปรู เมื่อปี 2000



วางของให้ทั่วพื้น

การวางของ #ซ้ำๆ อยู่บนพื้นช่วยให้เกิดการช่วงชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ และหากสิ่งของเหล่านั้นเป็นสิ่งประจำตัวที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนนำมาเอง ก็จะยิ่งเป็นการแสดงพลังที่แข็งแกร่งมากขึ้นโดยที่ผู้เข้าร่วมไม่ต้องเจอกับปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยทางร่างกายเลย เหตุการณ์ตัวอย่างในภาพนี้เป็นการประท้วงของคนงานในอิตาลี

วิธีนี้เคยถูกใช้ในอิตาลี เมื่อปี 2010


SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม



[1] “Euromaidan and the Role of Protest in Democracy”, Beesley C., 2016

[2] “Right to Protest”, Open Democracy; https://www.opendemocracy.net/en/right-protest/

[3] “I’m an Occupy Wall Street founder, and here’s my advice to student protesters”, Micah White; https://www.micahmwhite.com/advice-for-student-activists-quartz

Komentarze


bottom of page