top of page

DESIGN for SOCIAL IMPACTS

อ อ ก แ บ บ เ พื่ อ ส ร้ า ง ส ร ร ค์ สั ง ค ม

ว่าด้วยความสงบสุขแบบทิเบตของ Gyatso

“ถ้าข้างในไม่สงบ ข้างนอกก็ไม่สงบ มันเป็นไปไม่ได้ เราต่างต้องการความสงบสุขในสังคม แต่ความสงบสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าแต่ละคนไม่มีความสงบภายในใจของตัวเอง เราต่างส่งพลังความสงบสุขไปให้คนอื่นในที่ที่ไม่สงบได้ แต่ความสงบไม่สามารถสร้างได้ด้วยการใช้ปืน”



[“Without inner peace, outer peace is impossible. We all wish for world peace, but world peace will never be achieved unless we first establish peace within our own minds. We can send so-called peacekeeping forces into areas of conflict, but peace cannot be opposed from the outside with guns.”]

ข้อความจาก Geshe Kelsang Gyatso นักบวชชาวทิเบตที่จารึกไว้ในหนังสือ ‘เปลี่ยนแปลงชีวิต: เส้นทางแห่งความอิ่มเอมใจ’ (How to Transform Your Life: A Blissful Journey) เขายังเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาชีวิตด้วยวิถีแบบทิเบตทั่วโลกมากกว่าหนึ่งพันแห่ง


ข้อความนี้ไม่ได้หมายถึงว่าเราทุกคนควรเพิกเฉยต่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นภายนอก แต่มีความหมายที่เน้นย้ำให้ต้องใส่ใจต่อสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สงบของเพื่อนร่วมโลกทุกคน เพราะความไม่สงบของคนแต่ละคนนี้เองที่เป็นตัวการซึ่งนำมาสู่ความเดือดร้อนและไม่สงบสุขของสังคม


ฟังดูอาจเข้าใจยากสักหน่อยหากเปรียบเทียบกับวิธีการที่สังคมและรัฐส่วนใหญ่มักจะหยิบมาใช้จัดการกับความไม่สงบ โดยเฉพาะอำนาจเผด็จการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงในสังคม เพราะการปกครองแบบรวบอำนาจสามารถทำให้การยึดเอาเสรีภาพในการใช้ชีวิตไปจากผู้อื่นกลายเป็น ‘ความปกติที่ยอมรับได้’ และยิ่งหากรัฐได้ทำตัวเป็นแบบอย่างของการฉกฉวยเสรีภาพของคนในสังคมด้วยแล้ว จึงไม่ยากเลยที่จะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าการฉกฉวยเอาความสงบในการใช้ชีวิตของคนอื่นเป็นเรื่องปกติและชอบธรรมที่ใครจะทำก็ได้


การใช้อำนาจลักษณะนี้ขัดต่อการทำให้เกิดความสงบสุขในระยะยาว เพราะในการใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการกับความรุนแรง สุดท้ายสังคมก็จะตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงอยู่นั่นเอง และหากมองย้อนกลับมาดูสาเหตุของความรุนแรงในตัวบุคคล เราก็คงจะพบได้ไม่ยากว่าความขุ่นมัวของจิตใจและปัญหาความก้าวร้าวในใจต่างก็ถูกบ่มเพาะมาจากความกดดันบีบคั้นและการขาดเสรีภาพในการใช้ชีวิตของตัวผู้กระทำเหตุ ซึ่งถูกสั่งสมมานานจนถึงจุดที่เขาไม่สามารถจะอดทนได้อีก


นี่เองจึงนำมาสู่คำพูดที่ว่า “ถ้าข้างในไม่สงบ ข้างนอกก็ไม่สงบ” เพราะความสงบของสังคมจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อภายในใจของทุกคนได้รับการดูแลที่ดีก่อน การจัดการกับปัญหาความไม่สงบของสังคมจึงเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของคนทุกคน และผูกพันกับวิธีการที่เราใช้ในการดูแลกันและกัน


Kelsang Gyatso เป็นนักบวช เกิดเมื่อปี 1931 ในหมู่บ้านหยางโชทังในประเทศทิเบต เขาก่อตั้งศูนย์พัฒนาชีวิตด้วยวิถีพุทธแบบทิเบตซึ่งปัจจุบันได้ขยายสาขาไปมากกว่า 1,100 แห่งใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายในการทำให้พุทธแบบทิเบตสามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้


SolidSprout

ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม

コメント


bottom of page