ขยับเข้าใกล้ความจริงเสมือน (virtual reality) ที่เหมือนจริงมากขึ้นด้วยสัมผัสทางกาย
อุปกรณ์ชิ้นสำคัญนี้คือผิวหนังสังเคราะห์ที่เกิดจากการทำงานของนักวิจัยจากวิทยาลัยโพลิเทคนิคเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (École polytechnique fédérale de Lausanne หรือ EPFL) ซึ่งจะทำให้การท่องโลกเสมือนเข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ความจริงเสมือน (virtual reality หรือ VR) เป็นเทคโนโลยีการสร้างภาพจำลองที่เหมือนจริงเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับประสบการณ์ที่เหมือนหรือเหนือกว่าความเป็นจริง เทคโนโลยีนี้ถูกใช้เพื่อการเรียนรู้ทางการแพทย์ การฝึกฝนทางการทหาร การสร้างความบันเทิงและเล่นเกมที่พาคนเล่นให้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเกมได้ และยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมากในการนำไปใช้ประโยชน์ในอีกหลายวงการ
การออกแบบประสาทสัมผัสทางกายเสมือน
VR ถูกพัฒนาให้สร้างความเหมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านการพัฒนาภาพสามมิติที่มีรายละเอียดสูง การปล่อยกลิ่นสังเคราะห์ และการออกแบบเสียงแบบรอบทิศทาง แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือ ‘สัมผัสทางกาย’ ที่ยังเป็นช่องโหว่ในการทำให้ความเสมือนนั้นให้สมจริงได้อย่างแท้จริง จนวันนี้นักวิจัยจาก EPFL ได้พัฒนาผิวหนังสังเคราะห์ที่เมื่อสวมใส่แล้วจะสามารถส่งผ่านสัมผัสทางกายได้อย่างเหมือนจริง (https://actu.epfl.ch/news/artificial-skin-could-help-rehabilitation-and-enha/)
ผิวหนังสังเคราะห์นี้ทำจากแผ่นซิลิโคนที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถยืดได้ถึง 4 เท่าของขนาดเริ่มต้น และสามารถตอบสนองต่อการยยับตัวของผู้สวมใส่ได้อย่างรวดเร็ว โดยวิธีการตอบสนองของผิวสังเคราะห์นี้คือการเพิ่มและลดแรงกดด้วยกระเปาะอากาศ และสามารถสั่นอย่างละเอียดได้ที่ความเร็วสูงสุด 100 ครั้งต่อวินาที ผิวสังเคราะห์ชนิดนี้นอกจากจะส่งสัญญาณทางกายให้แก่ผู้สวมใส่ ยังสามารถเก็บข้อมูลการตอบสนองของผู้สวมใส่เพื่อประมวลผลและตอบสนองกลับไปได้ในทันทีด้วย
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments