พื้นผิวของเครื่องบินทั้งภายนอกและภายใน เปลี่ยนเครื่องบินให้มีชีวิตด้วยตัวมันเอง
ผลงานเชิงทดลองครั้งนี้เป็นการศึกษาและนำเสนอความเป็นไปได้ที่จะทำให้พื้นผิวทั้งด้านนอกและด้านในของเครื่องบินสามารถทำหน้าที่หลายอย่างได้เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่การสังเคราะห์แสงเหมือนพืช ไปจนถึงการดักจับความชื้นในอากาศ
การออกแบบที่เลียนแบบธรรมชาติ (biomimicry) ในอดีตเริ่มต้นด้วยการพัฒนาโครงสร้างหรือรูปร่างหน้าตาของสิ่งของให้คล้ายคลึงกับสิ่งที่มีในธรรมชาติจนได้ประโยชน์ใช้สอยในแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับที่วัตถุและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติสามารถทำได้ แต่ในปัจจุบันเมื่อเราเข้าใจกระบวนการทำงานของธรรมชาติมากขึ้น การออกแบบจึงพัฒนาสู่การถอดรหัสและเลียนแบบ ‘กระบวนการ’ ของธรรมชาติด้วย โดยมีชื่อเรียกว่า ‘การออกแบบชีวสังเคราะห์’ (biosynthetic design)
การออกแบบเลียนแบบกระบวนการธรรมชาติ
ภาพที่เห็นในโพสต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่นำทีมโดย Hanson Cheng (http://www.hansoncheng.com/) เป็นการออกแบบพื้นผิวที่บรรจุกลไกการทำงานของพืชเอาไว้ โดยทดลองนำเสนอความเป็นไปได้ในการนำไปใช้กับเครื่องบิน โดยมุ่งเน้นที่กลไก 3 แบบคือ การผลิตน้ำสะอาด การสังเคราะห์พลังงาน และการสังเคราะห์ออกซิเจน
การจัดแสดงครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Aerium ผลผลิตที่ได้คือพื้นผิวที่ทำให้ห้องโดยสารเครื่องบินทำงานได้เสมือนว่าผู้โดยสารกำลังนั่งอยู่ภายในอ้อมกอดของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น พื้นผิวที่สังเคราะห์พลังงานได้โดยใช้กลไกของพืช มีการบรรจุชั้นผิวที่มีคลอโรพลาสต์ (chloroplast) ซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ จากพืชที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทอดพลังงานและการสังเคราะห์แสง โดยนำมาบรรจุไว้ในตัวยึดคือกราฟีน (graphene) ทำหน้าที่เป็นทั้งโครงสร้างที่เบาและช่วยประหยัดพลังงาน และคลอโรพลาสต์นี้ยังช่วยจับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของผู้โดยสารและเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจนกับพลังงานซึ่งสามารถหมุนเวียนไว้ใช้ในเครื่องบิน นอกจากพื้นผิวชนิดนี้ยังมีพื้นผิวที่ช่วยดักจับความชื้นและกลั่นตัวเป็นน้ำสะอาดสำหรับใช้ในเครื่องบิน โดยทั้งหมดนี้กำลังจัดแสดงอยู่ที่ Saatchi Gallery ในลอนดอน (London) ในนิทรรศการที่ชวนผู้เข้าชมให้จินตนาการถึงธุรกิจการบินใน 100 ปีข้างหน้า
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments